Slide

11 มกราคม 2565

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพลเอกอรชุน พิบูลนครินทร์ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพลเอกอรชุน พิบูลนครินทร์ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันมีนักเรียน 52 คน ศูนย์การเรียนฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 เดิมชื่อศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านลุกข้าวหลาม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสที่จะพัฒนาศูนย์การเรียนให้เป็นที่ระลึกแด่ พลเอกอรชุน พิบูลนครินทร์ จึงเปลี่ยนชื่อศูนย์การเรียนฯ เป็น “ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพลเอกอรชุน พิบูลนครินทร์” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม และเปิดป้ายศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพลเอกอรชุน พิบูลนครินทร์

โอกาสนี้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่กำลังศึกษาอยู่ เฝ้าฯ ถวายรายงานผลการเรียน จากนั้นทอดพระเนตรกิจกรรมฝึกวิชาชีพนักเรียน ได้แก่ การปักผ้าลายลาหู่ดำ โดยมีปราชญ์ชุมชนมาช่วยสอน นักเรียนสามารถปักผ้าลายลาหู่ใช้เองได้ และยังนำไปจำหน่ายที่จุดชมวิวของบ้านลุกข้าวหลาม ทำให้มีรายได้เสริม ทอดพระเนตรกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ได้แก่ การจักสานไม้ไผ่ การจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่องหน่วยวัดความยาว ทำให้นักเรียนสามารถวัดและบอกความยาวของสิ่งที่กำหนด รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาได้

ทอดพระเนตรกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้และปฏิบัติจริงในกิจกรรมออมทรัพย์ การบันทึกบัญชี การประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าผลผลิตทางการเกษตร จากนั้นทอดพระเนตรกิจกรรมห้องพยาบาล กิจกรรมห้องสมุดและกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน กิจกรรมประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารเสริมนม กิจกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ การทำข้าวต้มมัดไส้กล้วย กล้วยฉาบ และน้ำพริกกล้วย เนื่องจากศูนย์การเรียนฯ มีผลผลิตกล้วยเป็นจำนวนมาก จึงนำมาแปรรูปถนอมอาหาร โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการทำและลงมือปฏิบัติจริง ทำให้นักเรียนมีความรู้และสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมในอนาคตได้

ทอดพระเนตรการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล เรื่องหน่วยสนุกกับตัวเลข โดยใช้สื่อรูปภาพในการสอน ทำให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องจำนวนและตัวเลข และมีความสนใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีการปลูกพืชผัก ไม้ผล เลี้ยงปลาดุก สุกร ไก่พันธุ์ไข่และไก่พันธุ์พื้นเมือง แล้วนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน รวมทั้งยังเป็นฐานการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครอบครัวของนักเรียนทำการเกษตร เพื่อเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการขายผลผลิตได้ต่อไป