ความเป็นมา
ปี 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ด้วยการปลูกไม้ป่าดั้งเดิมของพื้นที่ให้เป็นไม้ประธาน ผสมผสานกับการปลูกพืชเกษตรหรือไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น ตามลำดับชั้นเรือนยอดตั้งแต่ชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน ทำให้เกิดความหลากหลายของขนาด และพันธุกรรมพืช เกิดความอุดมสมบูรณ์เลียนแบบธรรมชาติ โดยเริ่มเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดน่าน และเลย ก่อนขยายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก
แนวทางการพัฒนา
1. วิเคราะห์พื้นที่เลือกชนิดพืชและรูปแบบในการปลูก
เลือกชนิดพืชปลูกของโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมพืชเดิม ปลูกพืชให้เหมาะสม เช่น สภาพเดิมเป็นป่าเต็งรัง ควรปลูก
- ไม้เรือนยอดชั้นบน
- ไม้ป่า เช่น ยาง เต็ง รัง ประดู่ แดง พะยอม เป็นต้น
- ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น ขนุน มะม่วง มะขาม ลำไย เป็นต้น
- ไม้เรือนยอดชั้นรอง
- ไม้ป่า เช่น มะขามป้อม สมอไทย ตะแบก มะกอกป่า สะเดา เพกา เป็นต้น
- ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น ไผ่เลี้ยง ไผ่บง พุทรา แค มะรุม เป็นต้น
- ไม้พุ่ม
- ไม้ป่า เช่น ผักหวานป่า ปรง มะเม่า เหมือดโลด แสลงใจ เป็นต้น
- ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น หม่อน ชะอม กล้วย น้อยหน่า มะละกอ ดีปลี เป็นต้น
- ไม้ผิวดิน
- ไม้ป่า เช่น กลอย บุก มันป่า เอื้องหมายนา กวาวเครือ ย่านาง เป็นต้น
- ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น ไพล กระชาย ขมิ้น ขิง ข่า มันเทศ เป็นต้น
รูปแบบการปลูกป่า ต้องสอดคล้องตามสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งความถี่ในการปลูกต้องเหมาะสมกับ ธรรมชาติของพืชแต่ละชนิด เช่น
- การปลูกตามพื้นที่ราบ
- ปลูกเป็นแถวเป็นแนวเป็นแถบ สลับกันระหว่างเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน
- ปลูกแบบสมรม สลับกันไปเป็นกลุ่มๆ ทั้งเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน
- การปลูกในพื้นที่ลาดชัน
- ปลูกตามแนวระดับเส้นลาดชัน สลับกันระหว่างเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน
- ปลูกแบบสมรม เป็นกลุ่มๆ ทั้งเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน
2.สร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการดำเนินงานโครงการ รับสมัครชาวบ้าน มีการรวมกลุ่ม วางแผนการปลูกตามหลักวิชาการ รวมทั้งจดทะเบียนสมาชิกให้ถูกตามกฎหมาย การอบรมให้ความรู้ การศึกษาดูงาน สมาชิกต้องมีส่วนรวมในทุกขั้นตอน เป็นงานที่หวังผลระยะยาว
3.ส่งเสริมการจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้มีกิจกรรมที่ผสมผสาน บูรณาการ ต่อยอดจากผลผลิตของโครงการ เช่น การแปรรูป การถนอมอาหาร การตลาด เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ เป็นต้น
4.สนับสนุนการดำเนินงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น
- หน่วยหลัก
- กรมป่าไม้ เป็นพี่เลี้ยงชุมชน 486 แห่ง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ พันธุ์ไม้ป่า
- สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นพี่เลี้ยงชุมชน 496 แห่ง และอบรมให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- หน่วยสนับสนุน
- กรมส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ พันธุ์ไม้เกษตร การแปรรูป
- กรมพัฒนาที่ดิน ให้คำแนะนำ และสนับสนุนเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน
- กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ
- กรมการปกครอง อำนวยการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาต่อยอด
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความรู้และคำแนะนำทางวิชาการ
- ภาคเอกชน เกี่ยวกับการแปรรูป การตลาด
คู่มือปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้
คู่มือปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้
ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
พื้นที่ดำเนินการ
ระหว่างปี 2556-2561 มีพื้นที่โครงการดังนี้
จังหวัด | จำนวนสมาชิก (ครัวเรือน) | พื้นที่ (ไร่) |
น่าน | 4,112 | 19,350 |
เลย | 2,530 | 11,171 |
เชียงใหม่ | 5,603 | 15,709 |
แม่ฮ่องสอน | 3,498 | 12,613 |
ตาก | 4,147 | 12,943 |