“ … ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้น เหตุการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์ของโลกก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม มีการติดต่อในวงที่กว้างขึ้น มีผู้ที่มาช่วยโครงการมากขึ้น ทั้งในทางด้านกำลังแรงและกำลังทรัพย์ จึงเกิดมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเรื่องการปฏิบัติงานให้เป็นแผนการที่ทุก ๆ คนและทุก ๆ ฝ่ายจะได้ปฏิบัติไปในแนวที่ใกล้เคียงกันอย่างมากกว่าเก่า ซึ่งก็ได้มีการเขียนเป็นแผนการและได้นำมาปรึกษากันในที่ประชุมโครงการแล้ว ทุก ๆ ท่านที่ได้เข้าประชุมสัมมนาก็คงจะได้รับฟัง ได้แสดงความคิดเห็นและแก้ไขไปบ้างแล้ว เป็นธรรมดาของการเขียนแผนการที่จะต้องเขียนไว้อย่างกลาง ๆ และกว้างที่สุด พอที่จะให้มีแนวทางที่จะดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของท้องที่ที่คุณครูแต่ละท่านหรือเจ้าหน้าที่แต่ละคนได้รับผิดชอบ ก็ขอให้ยึดถืออันนี้ คือไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามแบบที่เขียนไว้ตลอดเวลา ให้มีการปรับปรุงตามสมควรได้ แต่ว่ามีส่วนไหนที่เห็นควรจะปรับปรุงหรือแก้ไข หรือที่เขียนมายังเห็นว่าจะปฏิบัติได้ยากในช่วงเวลาอันใกล้ข้างหน้า ก็ให้แจ้งไปที่หน่วยกลางก็จะได้ปรึกษากัน และจะได้มีแนวทางอื่น ๆ ที่จะปฏิบัติการ ถือว่าเป็นการช่วยกัน …”
พระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
วันอังคารที่ 27 เมษายน 2536
แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2535 และจัดทำเป็นแผนพัฒนาที่มีกรอบระยะเวลา 5 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาพบว่ายังมีหลายอย่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนฯ อีกทั้งบางตัวชี้วัด เช่น การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของเด็กก็ยังไม่สามารถเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ชัดเจน ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ตั้งแต่ฉบับที่ 4 เป็นต้นไปจึงจัดทำเป็นแผนระยะยาว 10 ปี
- แผน กพด. ระยะที่ 1 พ.ศ. 2535-2539
- แผน กพด. ระยะที่ 2 พ.ศ. 2540-2544
- แผน กพด. ระยะที่ 3 พ.ศ. 2545-2549
- แผน กพด. ระยะที่ 4 พ.ศ. 2550-2559
- แผน กพด. ระยะที่ 5 พ.ศ. 2560-2569