Slide

6 พฤษภาคม 2565

การฝึกอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พื้นที่จังหวัดตาก ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ 

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 คสธ.จัดการฝึกอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และครูกศน. ผู้รับผิดชอบงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ในพื้นที่จังหวัดตาก จำนวน 144 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระราชดำริ และแนวทางการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับป่าและการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติงานโครงการได้ โดยมีนายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานเปิดการอบรม และนางศิราณี อิ่มสุวรรณ์ ที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริ ได้ร่วมบรรยายเรื่องพระราชดำริและแนวคิดการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้  นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบรรยายให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติของป่าและกฎหมาย โดยนายพัฒน์พงษ์ สมิตติพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้, การจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการสร้างป่า สร้างรายได้ของชุมชน โดย ดร.วัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย , แนวทางและตัวอย่างความสำเร็จของชุมชน โดยรองศาสตราจารย์บำเพ็ญ เขียวหวาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ มาตั้งแต่ปี 2556 โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ เป็นวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ด้วยการปลูกไม้ป่าดั้งเดิมของพื้นที่ให้เป็นไม้ประธาน ผสมผสานกับการปลูกพืชเกษตรหรือไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น ตามลำดับชั้นเรือนยอดตั้งแต่ชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน ทำให้เกิดความหลากหลายของขนาด และพันธุกรรมพืช เกิดความอุดมสมบูรณ์เลียนแบบธรรมชาติ ปัจจุบันมีการดำเนินงานโครงการในพื้นที่จังหวัดน่าน เลย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก มีพื้นที่ดำเนินการรวม 42 อำเภอ 158 ตำบล 956 ชุมชน มีสมาชิกเข้าร่วม 19,890 ครัวเรือน และมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 71,786 ไร่