Slide

12 มกราคม 2566

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 09.25 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ของ ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ โดยทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนนี้ เป็นครั้งที่ 4 และทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นครั้งที่ 1,092 ศูนย์การเรียนฯ เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันเปิดทำการสอนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 112 คน อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 จังหวัดตาก

การนี้นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จำนวน 6 คน เฝ้าฯ ถวายรายงานผลผลการเรียน โดยส่วนใหญ่มีผลการเรียนดีและมีความตั้งใจในการศึกษา พร้อมกันนี้สมาชิกชมรมศิษย์เก่า เฝ้าฯ ถวายรายงานการสนับสนุนโรงเรียนในด้านต่างๆ อาทิ กิจกรรมพี่สอนน้อง และการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน

โอกาสนี้ทอดพระเนตรการสาธิตการสอนวิชาภาษาไทยของชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งใช้บัตรคำและการร้องเพลงมาตราตัวสะกดแม่กงมาช่วยสอน ทำให้นักเรียนมีความสนใจและมีพัฒนาการการอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ดีขึ้น เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร สำหรับกิจกรรมห้องสมุด ส่งเสริมให้นักเรียนเข้ามาใช้บริการห้องสมุด อ่านหนังสือตามที่ตนเองสนใจและจดบันทึกในสมุดรักการอ่าน อีกทั้งยังฝึกทักษะการซ่อมหนังสือที่ชำรุดด้วย ส่วนกิจกรรมห้องพยาบาล นักเรียนได้รับบริการทันตกรรม จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าสองยาง

ด้านสหกรณ์นักเรียน ฝึกให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมร้านค้า ออมทรัพย์ และส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรทำให้นักเรียนมีความรู้เรื่องการทำบันทึกบัญชีรับ-จ่าย การขายสินค้าประจำวัน และการจดบันทึกการประชุม รวมทั้งยังได้นำผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียนมาจำหน่ายด้วย

ในการนี้มีพระราชดำรัส ให้นักเรียนรู้จักหลักการสหกรณ์ตั้งแต่เป็นนักเรียน ฝึกทำบัญชี เขียนรายงานการประชุม จะได้มีความรู้เรื่องการเขียนหนังสือและเรื่องคณิตศาสตร์ที่จะได้มาจากกิจกรรมสหกรณ์ด้วย

จากนั้นทอดพระเนตรการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารเสริมนม ซึ่งจัดอาหารตามหลักโภชนาการ มีผู้ปกครองนักเรียนผลัดเปลี่ยนมาประกอบอาหาร และฝึกให้นักเรียนล้างและเก็บภาชนะที่ใช้รับประทาน สำหรับนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการจะเสริมด้วยการให้ดื่มนมทุกคน

สำหรับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน ดำเนินการฝึกนักเรียนทำการเกษตรปลูกผักสวนครัว ปลูกไม้ผล ถั่วเมล็ดแห้ง เพาะเห็ดนางฟ้า รวมทั้งทำปุ๋ยหมักและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใช้ในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงไก่และเป็ดพันธุ์ไข่ เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ผลผลิตที่มีมากเช่นกล้วยได้ฝึกให้นักเรียนนำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกกล้วย ทำให้นักเรียนมีทักษะด้านอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว