Slide

14 กุมภาพันธ์ 2567

พิธีเปิดการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริฯ รุ่นที่ 26 ค.ศ. 2024 ณ โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในหลักสูตรต่างๆ มาตั้งแต่ ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการบริหารงานแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี และร่วมกันพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สำหรับในปี พ.ศ. 2567 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริฯ รุ่นที่ 26 ค.ศ. 2024 ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

โดยวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 พ.อ.หญิง รศ.นันทพร วีรวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมฯ และนายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้บรรยายเรื่องพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสายวิชาการ รวมจำนวน 30 คน ณ ห้องประชุม พลโทปัญญา อยู่ประเสริฐ โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี

ในโอกาสนี้ภายหลังจากพิธีเปิดการฝึกอบรม คณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ศึกษาดูงานระบบบริการสุขภาพและสาธารณสุขที่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม โดยมีพันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม กล่าวต้อนรับ

สำหรับการฝึกอบรม รุ่นที่ 26 ค.ศ. 2024 ครั้งนี้ จัดการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง 9 หลักสูตร ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรวมจำนวน 65 คน แบ่งออกเป็น 2 คณะ คือ 1) ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสายวิชาการ เป็นการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว, หลักสูตรการพยาบาลเด็ก, หลักสูตรทันตกรรมชุมชน, หลักสูตรเภสัชศาสตร์ 1, หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ 1 และหลักสูตรกายภาพบำบัด รวมจำนวน 30 คน และ 2) ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรสายบริหาร เป็นการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการบริหารงานสาธารณสุข, หลักสูตรการบริหารงานพยาบาล และหลักสูตรการบริหารการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมจำนวน 35 คน นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนางาน และจัดการศึกษาดูงานระบบบริการสุขภาพและสาธารณสุขที่ โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม การดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากสถาบันพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ