น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระราชกรณียกิจ พระราชจริยาวัตร
ด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

“…ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้นำเหรียญราชการชายแดนมามอบให้ การที่ข้าพเจ้าได้ออกเยี่ยมจังหวัดชายแดน ก็เพราะระลึกอยู่เสมอว่า
ข้าราชการและประชาชนในจังหวัดชายแดนนั้น ย่อมได้รับความสะดวกสบายน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในเมืองหลวง
ยิ่งในเวลาที่ประเทศใกล้เคียงบังเกิดสถานการณ์ไม่สงบเรียบร้อยด้วยแล้ว ก็จะทำให้ลำบากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะตำรวจภูธรชายแดน ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ห่างไกลจากความเจริญ ซึ่งไม่เคยชินมาก่อน ย่อมทำให้ได้รับความทุกข์ยาก ตรากตรำมาก
การที่ท่านทั้งหลายได้อดทนปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นอันทุรกันดารเช่นนั้น เป็นการเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
คือความมั่นคงของชาติ และความผาสุกของประชาชน

 

ด้วยความห่วงใยในความลำบากที่ท่านทั้งหลายได้รับดังกล่าวนั้น และใคร่จะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือกัน
ข้าพเจ้าจึงได้ออกเยี่ยมตามที่ต่าง ๆ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ทราบด้วยว่า
ข้าพเจ้าระลึกถึงการปฏิบัติหน้าที่อันยากลำบากของท่านทั้งหลายอยู่เสมอ
และยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ท่านทั้งหลายด้วย
ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา

ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านอีกครั้งที่ได้พร้อมใจกันนำเหรียญราชการชายแดนมามอบให้ในวันนี้…”

วังสระปทุม พระนคร
7 มกราคม 2508 เวลา 16.30 น.
พระราชดำรัสสมเด็จพระราชชนนี
เนื่องในโอกาสทรงรับเหรียญราชการชายแดน

พระราชประวัติ

   สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สังวาลย์” เสด็จพระราชสมภพที่เมืองนนทบุรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่สามในพระชนกชื่อ “ชู” และพระชนนีชื่อ “คำ” ทรงมีพระภคินีและพระเชษฐาร่วมพระอุทรสองคน ซึ่งถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์วัย และมีพระอนุชาคนเดียว คือคุณถมยา ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพระองค์สองปี

   สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเรียนหนังสือเมื่อเริ่มแรกกับพระชนนีคำ และต่อมาทรงเข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงที่ตั้งขึ้นที่วัดอนงคารามที่อยู่ใกล้บ้าน  และต่อมาได้เสด็จไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวิทยาจนถึงปี พ.ศ. 2456 ทรงจบชั้นประถมปีที่ 3  เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา และได้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น  ทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

   ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา  ขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชชนก (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์) กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ ปีที่ 1 ที่โรงเรียนแพทย์มหาลัยฮาร์วาร์ด ทรงห่วงใยและมักเสด็จมาเยี่ยมนักเรียนหญิงทั้งสองคนในวันอาทิตย์ และเมื่อเวลาผ่านไป สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพอพระทัยในสมเด็จพระบรมราชชนนีมากขึ้นทั้งในพระสิริโฉมและพระอุปนิสัย ความรู้ความสามารถ ความเฉลียวฉลาด รวมทั้งพระคุณสมบัติอื่น ๆ จนในที่สุดได้ทรงมีลายพระราชหัตถ์ กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้น “นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ” เมื่อทรงได้รับอนุญาต จึงทรงหมั้น “นางสาวสังวาลย์” อย่างเงียบ ๆ ในปีพ.ศ. 2462 ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ทรงจัดพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดา 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

   สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงงานในชนบทมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ  และเสด็จสวรรคตในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538  ในด้านพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรสมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทรงงานด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เสมอ ทรงใช้จ่ายประหยัดเพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการกุศล โปรดการเดินป่า ปีนเขา ทอดพระเนตรดอกไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติ ทรงเป็นคนเข้มแข็งและเป็นคนตรง ทรงเน้นการพึ่งตนเองและการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทรงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทรงใฝ่รู้ศึกษาวิชาการต่างๆ  มาตลอดพระชนม์ชีพ ทรงเลื่อมใสศรัทธาและศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทรงฝึกสมาธิและทรงดำเนินพระชนม์ชีพอยู่ในธรรมะ ไม่ทรงยึดถือในลาภ ยศ สรรเสริญ เคยมีรับสั่งว่า “คนเราไม่ควรลืมตัว ไม่อวดดี ไม่ถือว่าตนเก่ง”

   สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระประชวรโรคพระหทัย และเสด็จเข้ารักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 รวมพระชนมายุ 94 พรรษา 8 เดือน 27 วัน

 

อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.mfu.ac.th/about-mfu/princess-srinagarindra/princess.html

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาของเด็กและประชาชนในถิ่นทุรกันดาร

   สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาส อีกทั้งยังทรงห่วงใยตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนของประเทศ เมื่อทรงทราบว่าตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนให้เด็กชาวเขาและประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย  เป็นสื่อกลางในการสร้างความคุ้นเคยและความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านกับตำรวจตระเวนชายแดน อันเป็นแนวทางของการพัฒนาที่ถาวรและนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ต่อไป จึงทรงอุปถัมภ์โรงเรียน ตชด. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) มีพระราชดำรัสถึงพระราชกรณียกิจ พระราชจริยาวัตรด้านการศึกษาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543  ความตอนหนึ่งว่า

“…พ.ศ. 2507 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จฯ ประพาสหัวเมือง เริ่มทรงงานในชนบท จึงได้ทรงทราบและเริ่มเห็นโรงเรียนเหล่านี้ ทรงช่วยเหลือและสนับสนุนตั้งโรงเรียนให้มากขึ้น หน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ ได้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลร่วมสร้างโรงเรียน จึงได้ตั้งโรงเรียนเล็ก ๆ ที่เป็นมาตรฐานในพื้นที่ทุรกันดารทุกภูมิภาคของประเทศ ท่านสนับสนุนให้พวก ตชด. ที่ทำหน้าที่เป็นครูด้วยได้ มีโอกาสฝึกฝนสอนหนังสือให้ดีขึ้น ได้ทรงแนะนำวิธีการสอน
หรือนำผู้ที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ มาร่วมกันช่วยเหลือ โรงเรียนจึงพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน…”

   สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แล้ว ยังได้พระราชทานพระนามเดิมให้เป็นชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนสังวาลย์วิท” ถึง 8 แห่ง หลังจากนั้นทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ พระสหาย ให้มาช่วยสนับสนุนกิจการของโรงเรียน ตชด.อีกด้วย

   แม้ขณะทรงพระประชวรและเสด็จเข้ารักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังทรงห่วงใยเด็กและเยาวชนและตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสแก่ตำรวจตระเวนชายแดน ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านไอร์บือแต อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ว่า

“ ก่อนเดินทางมานี่ ได้ไปเยี่ยมสมเด็จย่ามา สมเด็จย่าทรงมีพระอาการดีขึ้นมากแล้ว ได้ทูลสมเด็จย่าว่า วันพรุ่งนี้จะไปนราธิวาส จะไม่ได้มาเยี่ยมสมเด็จย่าหลายวัน สมเด็จย่ารับสั่งฝากว่า ย่าแก่แล้ว ไปไหนไม่ค่อยไหว ถ้าไปที่ไหนขอให้เยี่ยม ตชด. แทนย่าด้วย”

   นับจากนั้นเป็นต้นมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนับสนุนกิจการและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โรงเรียนสังวาลย์วิท

โรงเรียนสังวาลย์วิท  1 


ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยสะอาด ตำบลศรีชมภู อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย จัดตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2509 ปัจจุบันได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการต่อแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2522

โรงเรียนสังวาลย์วิท  2


ตั้งอยู่ที่บ้านเขารูปช้าง ตำบลทุ่งหมอ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จัดตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2509 ปัจจุบันได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการต่อแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536

โรงเรียนสังวาลย์วิท  3


ตั้งอยู่ที่บ้านศาลาเมืองน้อย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2508 ปัจจุบันได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการต่อแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536

โรงเรียนสังวาลย์วิท  4


ตั้งอยู่ที่บ้านแม่หวาด ตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จัดตั้งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2509 ปัจจุบันกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ยังดำเนินการอยู่

โรงเรียนสังวาลย์วิท  5


ตั้งอยู่ที่บ้านจันทรรัตน์ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จัดตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2509 ปัจจุบันได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการต่อแล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2517

โรงเรียนสังวาลย์วิท  6


ตั้งอยู่ที่บ้านวังยาว ตำบลทรายขาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2512 ปัจจุบันได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการต่อแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2517

โรงเรียนสังวาลย์วิท  7


ตั้งอยู่ที่บ้านเคี่ยมงาม ตำบลลำนาว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2514 ปัจจุบันได้มอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการต่อแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2524

โรงเรียนสังวาลย์วิท  8


ตั้งอยู่ที่บ้านจะลอ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จัดตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2532 ปัจจุบันกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ยังดำเนินการอยู่

เอกสารอ้างอิง

กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน. ด้วยจงรักและภักดี 50 ปี โรงเรียน ตชด. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสโรงเรียน ตชด. จัดตั้งครบ 50 ปี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ทั้งหมด : 1459503
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้ : 2173
จำนวนผู้เข้าชมเดือนนี้ : 125593