อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

“…งานที่เรียกว่าอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น ก็ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้ศึกษารู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติว่าจะมีประโยชน์อย่างไรกับเรา และในเรื่องของสภาพแวดล้อมนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีความเดือดร้อนต่างๆ มากขึ้น เช่น อาจจะน้ำท่วมหรือว่าน้ำแล้งกระทันหันนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าในเรื่องของพืชธรรมชาติ ป่าไม้ หรือดินถูกทำลายไป เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาให้ดีถึงเรื่องพวกนี้ หาวิธีแก้ไข ก็จะสามารถทำให้ต่อไปเราได้รักษาสมบัติของตนเองเอาไว้ได้…”

พระราชดำรัส
วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2538

ความเป็นมา

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารหลายครั้ง ทรงพบว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ พื้นที่ถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ป่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยและทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนจัดกิจกรรมตั้งแต่พุทธศักราช 2530 เป็นต้นมาเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมชาติ เกิดความรักและร่วมกันดูแลรักษาต่อไป

90520
1810240005
coversuanphung

และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในพุทธศักราช 2538 ทรงพบว่า สุดเขตแดนด้านตะวันตกของอำเภอสวนผึ้งเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับพม่า ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีความหลากหลายทางกายภาพและชีวภาพ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สภาพธรรมชาติวิทยาสำหรับเด็กและเยาวชน และประชาชน จะได้เกิดความรัก หวงแหน และร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ต่อไป

IMG_3702
playwaterfall

พื้นที่ดำเนินการ

โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยามีพื้นที่ดำเนินงาน 132,905 ไร่ ครอบคลุม 12 หมู่บ้านในตำบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง มีสำนักงานตั้งอยู่ที่หมู่ 7 บ้านห้วยผาก ตำบลสวนผึ้ง บนพื้นที่ประมาณ 47 ไร่ อยู่ในการกำกับดูแลของโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

ภารกิจ

โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ เข้ามาสำรวจ และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติของพื้นที่ องค์ความรู้ที่ได้นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเผยแพร่ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนต่อไป

ในแต่ละปีจะมีผลงานวิจัยเกิดขึ้นประมาณ 5-10 เรื่อง ตัวอย่างเช่น

  • พรรณไม้มากมาย
  • พันธุ์ที่พบใหม่ในพื้นที่บริเวณเขากระโจม ได้รับพระราชทานชื่อว่าชมพูราชสิริน
  • ปลาเฉพาะถิ่น บางพันธุ์ใกล้จะสูญพันธุ์
  • ความหลากหลายของพันธุ์ไผ่
  • นิเวศของเห็ดโคน
  • ผึ้งชันโรง
  • พันธุ์กล้วยไม้ป่าและสัตว์สะเทือนน้ำสะเทือนบก

การฝึกอบรม เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจสภาพทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชนไม่ต่ำกว่า 300 คนต่อปี โดยจัดกิจกรรมค่ายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบกิจกรรมมีทั้งแบบเต็มวัน, ค่ายพักแรม 3 วัน 2 คืน

   ค่ายนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้


ระยะเวลา 3 วัน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดจิตสํานึก รักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ สร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ มีการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดกิจกรรมผจญภัยสู่ห้องเรียนธรรมชาติ 

   ค่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม


ระยะเวลา 2 วัน เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมผ่านฐานการเรียนรู้ ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยา

การส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ

   การตั้งกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันและควบคุมไฟป่า


มีมากกว่า 200 คน นอกจากจะช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าแล้ว ยังช่วยกันดูเรื่องการบุกรุกพื้นที่ ลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์

fire

   การจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับประชาชนในพื้นที่และองค์กรเอกชน 


เช่น การปลูกป่า การทำเหมืองฝาย เวทีวิชาการ การแจกจ่ายพันธุ์ไม้ให้ประชาชนไปปลูก การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับโรงเรียน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

plantingmiyawaki
Makeaweir
S656507030
S143772870
S__66117654_0

การส่งเสริมอาชีพวนเกษตรให้ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้เสริมไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย เช่น การปลูกกล้วย เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน สมุนไพร ฝาง น้ำผึ้ง เป็นต้น

agroforestry02
agroforestry01
agroforestry04
agroforestry03

ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน

ปัจจุบันอุทยานธรรมชาติวิทยามีแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อาทิ

   ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา


ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั่วไปของอุทยานธรรมชาติวิทยาทั้งข้อมูลทางสังคมศาสตร์ ข้อมูลทางกายภาพ และข้อมูลชีวภาพที่สํารวจพบในพื้นที่ โดยนํามาจัดทําเป็นนิทรรศการ สิ่งตีพิมพ์ นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตในถิ่นทุรกันดาร

sala

   เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ


เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ มี 2 เส้นทาง เป็นแหล่งศึกษาดูงานของประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเผยแพร่ความรู้ และเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการศึกษาธรรมชาติ นอกห้องเรียนของนักเรียน 

เส้นทางแรก เริ่มจากอาคารสำนักงานผ่านธารน้ำร้อนบ่อคลึงแล้ววนกลับมายังอาคารสำนักงาน ระยะทาง 750 เมตร ใช้เวลาในการเดิน 1 ชั่วโมง

playhotstream

เส้นทางที่สอง เริ่มจากอาคารสำนักงานเดินเลาะน้ำตก ผ่านธารน้ำร้อนบ่อคลึง แล้ววนกลับมายังอาคารสำนักงาน ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดิน 3 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางจะได้พบ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ สมุนไพรท้องถิ่น ลักษณะทางกายภาพของดิน น้ำตกเก้าโจน ธารน้ำร้อนบ่อคลึง โป่งเทียม พรรณสัตว์ต่างๆ หอดูนก การจัดการไฟป่า เป็นต้น

playanimail
playanimai2l

   โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์


เพื่อรับผลผลิตจากกลุ่มสมาชิกวนเกษตร เช่น กล้วย มาแปรรูปเป็นกล้วยตากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นจุดสาธิตให้ประชาชนที่สนใจมาเรียนรู้ด้วย

   จุดสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์ เพาะพันธุ์ไม้ ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ 


   ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ของชุมชน


ข่าวกิจกรรม

S__72261747

วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

13036737

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2567

โครงการอบรม “กลุ่มนักอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ”

cover051266suanphueng

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566

การร่วมกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566  ณ ศาลาที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง 

เอกสารเผยแพร่

   รายงานการศึกษาวิจัย


รายงานการศึกษาวิจัยในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริฯ ปีงบประมาณ 2565

ติดต่อ

อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ที่อยู่ 254 หมู่ที่ 7 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 70180
โทรศัพท์ 0 3224 0917