การควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน

        เช้าวันหนึ่ง ใน พ.ศ. 2533 ข้าพเจ้าเปิดวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยมีบทความของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องโรคเอ๋อ ซึ่งเกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน ข้าพเจ้านึกไปถึงเมื่อสิบปีก่อน ข้าพเจ้าเคยตามเสด็จฯ ไปที่หมู่บ้านไกลๆ แถวจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีหมู่บ้านที่คนเกือบทั้งหมู่บ้านดูเป็นคนมีสติไม่สมประกอบ เป็นภาระของคนปกติ ข้าพเจ้าคิดว่าโรคเอ๋อคงเป็นอย่างนี้เอง ต่อจากนั้นข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในเขตที่มีการขาดสารไอโอดีนมาก ได้หารือกับอาจารย์ไพวรรณ อาจารย์พิสิษฐ์ คุณกิตติ (สำนักพระราชวัง) ว่า เราจะพอมีทางบรรเทาปัญหานี้อย่างไรบ้าง โดยจะเริ่มต้นงานในโรงเรียน ตชด. ตามเคย คณะทำงานก็ได้ไปศึกษาแนวทางในการทำงาน การออกสำรวจและหาข้อมูลซึ่งก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากขาดสถิติภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งเราไปสำรวจกันเอง ฝึกอบรมให้ครู ตชด.ตรวจนักเรียน แนะนำการใช้ไอโอดีนหยดในน้ำ ใช้เกลือไอโอดีน โรงเรียนตชด. ที่สำรวจกันนั้นจำนวนนักเรียนขาดสารไอโอดีนเกิน 70 – 80 % ถึง 100% ก็มี ถึงจะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย ในสามปีที่เราพยายามแก้ไขปัญหา ลดลงได้มาก ในบางจุดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแก้ด้วยการให้ยาเม็ดแก่หญิงมีครรภ์และเด็กนักเรียน 6 เดือนต่อครั้ง ปรากฏว่าได้ผลดี แต่ก็คงไม่ได้ตามเป้าของกระทรวงสาธารณสุขที่จะแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 4 ปีข้างหน้า จะได้แค่ไหนก็ตาม ก็ถือว่าเรามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาระดับชาตินี้

พระราชนิพนธ์  “40 ปี โรงเรียน ตชด.”  วันที่ 27 มีนาคม 2539 

ความเป็นมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงตระหนักถึงปัญหาการระบาดของโรคคอพอกเนื่องมาจากการขาดสารไอโอดีน ทั้งจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขและทรงพบเห็นในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ทุรกันดาร จึงมีพระราชดำริที่จะดำเนินการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้และเสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยเริ่มดำเนินการในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์  เพื่อควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในพื้นที่ทุรกันดาร

แนวทางการดำเนินงาน

ในการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ กิจกรรมในโรงเรียนและกิจกรรมในหมู่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้

   กิจกรรมในโรงเรียน


1. ดื่มน้ำเสริมไอโอดีนเป็นประจำทุกวัน
2. ส่งเสริมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหารกลางวันเป็นประจำทุกวัน
3. เฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน ด้วยการตรวจคอพอกในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาทุกคน โดยฝึกอบรมครูให้สามารถตรวจคอพอกได้
4. อบรมให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน เรื่องโรคขาดสารไอโอดีน

   กิจกรรมในหมู่บ้าน


1. อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องโรคขาดสารไอโอดีน
2. รณรงค์การใช้เกลือเสริมไอโอดีนและ/หรือน้ำหยดไอโอดีนในน้ำปลาสำหรับปรุงอาหารในครัวเรือนเป็นประจำทุกวัน

iodine08