สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงกล่าวสุนทรพจน์ถึงประสบการณ์ความสำเร็จ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน”
ของประเทศไทยในที่ประชุม UN ระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก
HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn delivers an honourary speech at the Pre-Summit of the 2021 UN Food Systems Summit on “School Feeding” and the “Agriculture for School Lunch Project”
บ่ายวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวสุนทรพจน์เล่าถึงประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงาน “โครงการอาหารกลางวัน” และ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” ของประเทศไทย ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ (Pre-summit of the UN Food Systems Summit)
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองปลัดฯ ระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ พร้อมด้วย ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และ ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ กรุงโรม และประชุมผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม นี้
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.30-18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สหประชาชาติ (UN) ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวสุนทรพจน์เล่าถึงประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงาน “โครงการอาหารกลางวัน” และ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” ของประเทศไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (Pre-summit of the UN Food Systems Summit) ซึ่งมีผู้นำประเทศ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเกษตรและอาหาร กว่า 140 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวต่อที่ประชุมว่า ได้ทรงงาน “โครงการอาหารกลางวัน” และ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” มากว่า 40 ปี เพราะโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของชุมชนและศูนย์กลางของการเรียนรู้ และโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาด้าน อาหาร สุขภาพ และการศึกษา เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านเริ่มโครงการในพื้นที่ทุรกันดาร โดยจัดหาเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดถั่ว กล้าไม้ผล และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ เช่น สัตว์ปีก ปศุสัตว์ สุกร แพะ และปลา มอบให้แก่โรงเรียน มีการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การอนุรักษ์น้ำและดิน มีการใช้สารชีวภาพในการควบคุมและกำจัดศัตรูพืชด้วยตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติในแปลงเกษตรของโรงเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตราย ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการบูรณาการความรู้จากหลายวิชาเข้าด้วยกัน และยังสามารถขายผลผลิตจากแปลงเกษตรของโรงเรียนให้กับโรงอาหารของโรงเรียนในรูปแบบของระบบสหกรณ์อีกด้วย
“โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” เป็นแบบต้นแบบของการบริโภคอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน เพราะทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและสุขภาพ ในครัวของโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง จะได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของ อาหาร โภชนาการ และสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ หากผลผลิตทางการเกษตรในโรงเรียนผลิตไม่เพียงพอสำหรับนักเรียน โรงเรียนก็จะจัดซื้อวัตถุดิบภายในหมู่บ้านมาใช้ทำอาหาร ในส่วนของห้องพยาบาลของโรงเรียน ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงสุขภาพ การสุขาภิบาล อาหารที่สะอาด น้ำดื่มที่สะอาด การล้างมือ สภาพแวดล้อมที่สะอาด นอกจากนี้ห้องพยาบาลในโรงเรียน จะให้วิตามินและแร่ธาตุเสริมแก่เด็กนักเรียน เช่น วิตามินรวม ไอโอดีน และธาตุเหล็กด้วย
การตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทั้งวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะเชื่อมโยงสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขและโภชนาการมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้ต้องประกาศปิดสถานศึกษา ดังนั้น จึงต้องย้ายการศึกษาจากโรงเรียนไปสู่ครัวเรือนและชุมชน เพื่อที่จะสามารถให้การศึกษาเด็กได้อย่างต่อเนื่องมากที่สุด
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทโรงเรียนในระบบอาหารว่า “ในมุมมองของข้าพเจ้าประเทศไทยก็มีศักยภาพเทียบเท่ากับประเทศอื่น ๆ ที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของสมาชิกในชุมชน ดังนั้น โรงเรียนจึงเหมาะกับเป็นสถานที่สำหรับการพัฒนาด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา เพื่อให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน”
สุดท้าย กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวว่า “หากเราช่วยเหลือแบ่งปันและห่วงใยกัน เราจะสามารถผ่านทุกปัญหาไปด้วยกัน”
ข้อมูล: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรม