สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงกล่าวเปิดการประชุมนานาชาติ “การประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 10”

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554
ณ โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี

the 10th Meeting of the High Level Group on Education for All Royal Cliff Beach Resort, Jomtien-Pattaya, Chonburi Province, Thailand

มาดาม อิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ
นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รัฐมนตรี เอกอัครราชทูต
ท่านผู้มีเกียรติ
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการคึกษา เพื่อปวงชน ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นการประชุมที่มีเกียรติยิ่ง ขอต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทย

เมื่อยี่สิบปีก่อน ในปี 2533 ข้าพเจ้าได้มาอยู่ ณ จอมเทียนแห่งนี้ เพื่อร่วมประชุมกับท่านผู้มีเกียรติ จากทั่วโลก เป็นการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษา ซึ่งได้ร่วมกันประกาศการรณรงค์ให้มี การศึกษา เพื่อปวงชน เป็นครั้งแรก ในการประชุมครั้งนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้ปวารณาว่าจะสนับสนุนวาระแห่งโลกที่มี ความสำคัญดังกล่าว เพื่อให้สิทธิแก่ทุกคนในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และยอมรับพันธกรณี การสนับสนุนความต้องการพื้นฐานในการเรียนรู้

ปฏิญญาจอมเทียนดังกล่าว ได้นำ ทางการพัฒนาการศึกษาของโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนการประชุมที่ กรุงดาการ์ ในปี 2543 ได้เติมพลังให้แก่กระบวนการของการศึกษาเพื่อปวงชนมากขึ้น และ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งกระตุ้นกระบวนการดังกล่าวอย่าง ต่อเนื่อง มีการประเมินความก้าวหน้าและแสวงหายุทธศาสตร์ใหม่ๆ ข้าพเจ้าเองได้ไปร่วมการประชุมระดับสูง ครั้งที่ 5 ที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2548 ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการศึกษาเพื่อปวงชนอย่างแข็งขัน เห็นได้ จากผลงานของข้าพเจ้าตลอด 30 ปีที่ผ่านมาและที่จะทำต่อไปในอนาคต

นานาประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทย มีความก้าวหน้าด้วยดีในการดำเนินการตามเป้าหมายทั้ง 6 ข้อของหลักการการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีในความสำเร็จดังกล่าว

ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั่วโลก ก่อให้เกิดปัญหาและวิกฤตใหม่ๆทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต เรากำลังเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความ สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานน้ำมันและถ่านหินที่ลดน้อยลง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลง ไป่สู่สังคมผู้สูงอายุ และการขยายชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ได้นำไปสู่ปัญหาสังคมและ เศรษฐกิจในเวลาอันสั้น

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งอุดมด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพและธัญญาหาร ดังนั้น ในอนาคต ความมั่นคงทางอาหารของโลกอาจอยู่ในภาวะ สุ่มเสี่ยง นานาชาติได้ปรึกษาหารือกันและทำความตกลงที่จะช่วยกันชะลอความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่พึง ประสงค์ดังกล่าว การประชุมต่าง ๆ ล้วนแต่ระบุว่า การศึกษา คือ กุญแจสำคัญ

สองทศวรรษผ่านไปแล้ว จากนี้ไป การศึกษาเพื่อปวงชน มีภารกิจสองประการ ประการแรก คือ การยืนหยัดหลักการทั้ง 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐาน ประการที่สอง คือ ความรับผิดชอบของทุกคนในฐานะพลเมืองโลก ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบปัญหาของโลก ดังนั้น การศึกษาเพื่อ ปวงชน จึงมิใช่เป็นเพียงการรู้หนังสือและทักษะเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความรู้ ทักษะและความใส่ใจปัญหา ของโลกด้วย

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้สอดแทรกหลักการดังกล่าวในกิจกรรมการเรียนรู้หลายรูปแบบให้แก่ นักเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลตลอดมา อาทิ มีบทเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกหลักสูตร ในแต่ละ โรงเรียนนักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตอาหารบริโภคกันเอง นักเรียนจะเรียนรู้วิธีการ บริหารจัดการน้ำ พลังงาน และขยะ เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนของตน แต่ละโรงเรียนจะมี สวนพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะพืชและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น กิจกรรมดังกล่าวช่วยให้นักเรียนรักธรรมชาติและสนใจ อย่างจริงจังเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ นักเรียนเหล่านี้ได้เรียนรู้และปฏิบัติการตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การศึกษาสามารถสร้างความตระหนักรู้ ทักษะที่จำเป็นและนิสัยให้แต่ละบุคคลสามารถรับมือกับ ปัญหาเหล่านั้น ทั้งส่วนตัว ครอบครัวและชุมชน ส่วนผู้ที่มีทักษะวิชาชีพในระดับสูงขึ้นก็จำเป็นต้องเรียนรู้ว่า องค์กรของเขาควรจะมีส่วนช่วยเหลือสังคมอย่างไร สำหรับผู้นำทางธุรกิจ ก็จะต้องสร้างสำนึกที่จะทำให้องค์กร ของตนสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน และผู้นำทางการเมืองและรัฐบาลก็ควรให้ ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในลำดับต้น ๆ

โดยสรุป การศึกษาเพื่อปวงชน ควรเน้นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มิฉะนั้น โลกของเราอาจจะกลายเป็นโลกที่ไม่น่าอยู่เร็วกว่าจะคาดคิด

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอื่น ๆ นับตั้งแต่ปี 2533 ก็คือโครงสร้างประชากรและสภาพเศรษฐกิจสังคม ข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2503 ถึง 2513 ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทย กำลังก้าวตามทันประเทศที่พัฒนาแล้วในหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น บางประเทศในเอเชียประสบความสำเร็จใน เรื่องของการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัว อัตราการเกิดลดลง อัตราเด็กตายก็ลดลง และอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เป็นต้น

ประชากรของไทยยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าอัตราการเพิ่มจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.6 โครงสร้าง ประชากรของไทยคล้ายคลึงกับหลายประเทศ กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงและจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับจากนี้เป็นต้นไป ตัวอย่างเช่น ในปี 2533 มีประชากรสูงอายุร้อยละ 7.7 ปัจจุบันเพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 11.8 จากประชากร 67 ล้านคน และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 17.2 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมี จำนวนมากกว่าเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีลงไป ประเทศเกษตรกรรมเช่นประเทศไทย กำลังกลายเป็นสังคมคน สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยที่อัตราการเกิดลดลงเรื่อย ๆ และกำลังคนภาคการเกษตรลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อย ละ 70 เหลือเพียงร้อยละ 40 ภายในสองทศวรรษ

นอกจากนี้ ระหว่างปี 2443 ถึง 2543 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัว เป็น 6 พันล้านคน ประชากรผู้ใหญ่ในปัจจุบันเกิดในยุคที่ประชากรเพิ่มเร็วที่สุด ซึ่งเป็นช่วง 20 ปี ก่อนปี 2533 ดังนั้น จึงไม่น่า ประหลาดใจที่ประเทศที่เข้าร่วมประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนครั้งแรก ต้องเพียรพยายามอย่าง หนักที่จะจัดบริการการศึกษาให้กับประชากรที่เกิดมากในช่วงเวลาดังกล่าว ผลก็คือ ในปัจจุบัน ประชากรในประเทศกำลังพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น มีบิดา หรือมารดาโสดที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพังมากขึ้น เนื่องจากการหย่าร้างที่มีอัตราสูงขึ้น มีแรงงานอพยพทั้งจาก ภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้เกิดคนเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้น ชุมชนเมืองในประเทศ ไทยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 31 ซึ่งค่อนข้างสูง แต่ยังไม่สูงเท่าบางประเทศ ชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นรวดเร็ว ทำลาย วัฒนธรรมชนบทและท้องถิ่น นำไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยีและเงินตรามากขึ้น เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ช่องว่างระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาในเกือบทุกภูมิภาคลดลง ในช่วงทศวรรษของปี 2513 แต่อาจมีจุดบอดที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับจุลภาค ซึ่งจะไม่ชัดเจนเหมือนกับ ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจที่พบเห็นในอดีต ความเหลื่อมล้ำแบบ ใหม่ ๆ อาจจะไม่คุ้นชินและถูกมองข้ามไปได้

ตัวอย่างเช่น บางโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร อาจมีสภาพชนบทแม้ว่าจะตั้งอยู่ในบริเวณที่เจริญที่สุด ของประเทศก็ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือเด็กและเยาวชน ซึ่งถูกจับกุมด้วยความผิดสมัยใหม่ อาทิ มียาเสพติดใน ครอบครอง หรือเสพยา เป็นต้น เด็กตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในวัยไม่สมควร ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศ ไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น แรงงานอพยพซึ่งส่วนใหญ่ข้ามพรมแดนมาขายแรงงานและบางคนก็มีลูกติดมาด้วย นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยี ที่ทำให้คนจำนวนมากถูกกีดกันจากข้อมูล ข่าวสารและบริการต่าง ๆ

การศึกษาจะต้องสร้างสำนึกและความรับผิดชอบของทุกคน ให้ใส่ใจช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของ ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ปวงชนเพื่อการศึกษา และ การศึกษาเพื่อความ อยู่ดีกินดีของปวงชน มีความสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของมนุษยชาติ

งานทางการศึกษาของข้าพเจ้าส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าจัดการศึกษาเพื่อผู้ใหญ่และเด็กในชุมชนชนบทที่ห่างไกล ผู้ต้องขังรวมถึงผู้ต้องขังที่เป็นเด็กและ เยาวชน เด็กเจ็บป่วยในสถานพยาบาล มารดาที่อยู่ในสภาพขัดสน ชนเผ่าหรือชนกลุ่มน้อย และคนพิการ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ อาทิ สหภาพพม่า มองโกเลีย บังคลาเทศ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

ในประสบการณ์ 30 ปีของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเน้นการเกษตรในโรงเรียน เนื่องจากเกษตรกรรมเป็น แหล่งอาหารที่ยั่งยืนและเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดี ข้าพเจ้าดำเนินการให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการ พัฒนาชุมชน ซึ่งข้าพเจ้าเน้นเรื่องสุขภาพ สุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และมรดกทาง วัฒนธรรม ด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม เป้าหมายของข้าพเจ้าส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มชนด้อยโอกาสและ กลุ่มชายขอบ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าถ้าเรายื่นมือเข้าไปช่วย การศึกษาจะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างเหลือเชื่อ

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรานับตั้งแต่ปี 2533 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อทรงเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ ในปี 2538 ในวโรกาส ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้จัดให้มีการนำบทเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมทั้งหมดนี้ไปแปลงให้เป็น รูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผ่านเว็บไชต์ http//www.edltv.thai.net. นอกเหนือจากการสอน ตามหลักสูตรปกติแล้ว ยังมีบทเรียนวิชาชีพในเว็บไชต์นี้อีกด้วย ในอนาคตนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงระบบ อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ จะช่วยให้เราสามารถบริการบทเรียนออนไลน์ให้กับทุกคนได้ จะมีเพียงจุดบอด สัญญาณในบางพื้นที่ซึ่งเรากำลังทดลองเทคโนโลยีราคาถูกเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว

ข้าพเจ้าใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือการทำงานทางการศึกษาเพื่อปวงชนของข้าพเจ้า แต่มิได้หมายความว่าจะสามารถทดแทนความสำคัญของครูแต่ประการใด ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการศึกษา เพื่อปวงชนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

นับตั้งแต่ปี 2548 ข้าพเจ้าได้รับเกียรติจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ แต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นทูตสันถวไมตรีคนแรกจากกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศอาเซียนกำลังจะ เป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ข้าพเจ้าหวังว่าเราชาวอาเซียนจะเข้มแข็งยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการศึกษา เพื่อปวงชนในภูมิภาคนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการของไทย ที่ได้ร่วมกันจัดการประชุมระดับสูงครั้งที่ 10 ขึ้น ณ สถานที่ซึ่งเราได้ร่วมกันเริ่มต้นขบวนการการศึกษาเพื่อปวงชนเมื่อ 20 ปีก่อน ขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุก ฝ่าย และด้วยความร่วมมือกันจะทำให้เราสามารถเสาะหายุทธศาสตร์ใหม่ๆเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อ ปวงชน ในความเพียรพยายามเพื่อให้โลกของเราที่ดีขึ้นและสงบสุขสำหรับทุกคน

ข้าพเจ้าขอเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนครั้งที่ 10 และขออวยพรให้การ ประชุมประสบความสำเร็จทุกประการ

ขอขอบคุณ

ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการ