พระราชประวัติ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน
รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

   ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2520

   เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ด้านการทรงศึกษา

   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้น ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ต่อมา ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบาลี-สันสกฤตตามลำดับ ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาและการพัฒนา ทรงศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์

ด้านการทรงรับราชการ

   ในด้านการทรงรับราชการ ทรงเข้าปฏิบัติหน้าที่อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าตั้งแต่พุทธศักราช 2523 ทรงดำรงพระยศพลเอก ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ และทรงเกษียณอายุราชการในพุทธศักราช 2558

   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้ใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาอย่างยิ่ง ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลา นอกจากวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ยังทรงเลือกศึกษาวิชาการด้านอื่นๆ อีกหลายด้านที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น และทรงนำความรู้จากวิชาการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและความเป็นอยู่ของราษฎร

   นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยในงานศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการถ่ายทอดงานด้านวัฒนธรรมไปสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาอบรม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ ตระหนักความสำคัญ รักและผูกพันในศิลปวัฒนธรรมของชาติ สามารถสืบทอดเพื่อการอนุรักษ์และอาจพัฒนาเป็นอาชีพได้ ทรงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย

พระราชจริยวัตรและพระอัจฉริยภาพ

   พระราชจริยาวัตรที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นประจักษ์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก เดือดร้อนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา พสกนิกรต่างยกย่อง และชื่นชมในพระบารมี ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองในด้านต่างๆ มาโดยตลอด จึงมีบุคคล หน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในราชอาณาจักรและในต่างประเทศ ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธย และขอพระราชทานนามไปเป็นชื่อพรรณพืชและสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในโลก รวมทั้งสถานที่และสิ่งต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นสิริมงคลสืบไป

   นอกจากนี้ ยังได้ทรงพระกรุณารับสมาคม สถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ หรือที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่ทรงให้การสนับสนุน ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมสำคัญ ๆ อยู่เสมอ

   ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมีงานอดิเรกที่ทรงสนพระทัยหลายประเภท เช่น ดนตรี งานศิลป์ กีฬา งานสะสม การทัศนศึกษา การอ่านและสะสมหนังสือ ทรงมีหอสมุดส่วนพระองค์ที่จัดเก็บหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งที่ทรงเลือกซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย

   และดังเช่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดี เป็นต้น รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน พระราชนิพนธ์สารคดีเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก และรายได้จากการจำหน่ายได้นำไปเป็นทุนการศึกษา ที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดามอบให้แก่นักเรียนและนักศึกษาทั้งสายอาชีวะและสายสามัญจำนวนมากที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาโดยตลอด

   ในปัจจุบัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่าง ๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พระปรีชาสามารถด้านภาษาเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ทรงรับความรู้ใหม่ ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อทรงนำมาใช้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกหมู่เหล่าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รางวัลเกียรติยศและพระเกียรติคุณ

   ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลมีชีวิตความเป็นอยู่ ดีขึ้น ความสำเร็จของโครงการตามพระราชดำริปรากฏเป็นที่ประจักษ์ จึงมีหน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในราชอาณาจักร และในต่างประเทศ ขอพระราชทานนำประสบการณ์ของพระองค์ไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ เพื่อร่วมกันสร้างความอยู่ดีกินดี ความสงบและความสุขให้แก่ประชากรของโลกต่อไป พร้อมกันนี้ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลและตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ

31 สิงหาคม 2534

รางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ

16 ตุลาคม 2535

รางวัลนักโภชนาการดีเด่นจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ด้วยพระราชกรณียกิจโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน

19 สิงหาคม 2547

โล่เกียรติยศ ผู้นำดีเด่นผู้อุทิศตนเพื่อโครงการกำจัดโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

11 ตุลาคม 2547

ทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ด้านโครงการอาหารในโรงเรียน

24 มีนาคม 2548

ทูตสันถวไมตรี แห่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ด้านการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย ด้วยการศึกษาและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

26 พฤษภาคม 2548

ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ สาขา Humane Letters มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอบกินส์

19 พฤศจิกายน 2548

รางวัลอินทิรา คานธี เพื่อสันติภาพ การลดอาวุธ และการพัฒนา

2 ตุลาคม 2552

รางวัลพิเศษสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติผลงานดีเด่น ในการช่วยเหลือและส่งเสริม โภชนาการของผู้ด้อยโอกาส อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์

17 ตุลาคม 2559

ทูตพิเศษขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ด้านการขจัดความหิวโหย

15 ตุลาคม 2561

รางวัลความสำเร็จสูงสุด ขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)

25 ตุลาคม 2562

เครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์ให้แก่บุคคลสำคัญระดับโลก ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

26 กรกฎาคม 2565

ทูตพิเศษขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ด้านการขจัดความหิวโหย ประจำปี 2565-2567

ที่มา : http://sirindhorn.net