Slide

7-10 สิงหาคม 2566

การติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนสังกัด สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร

วันที่ 7-10 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (คสธ.) ร่วมกับ ผู้แทนจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมสุขภาพจิต และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จำนวน 8 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนวัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม 2) โรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา เขตดอนเมือง 3) โรงเรียนวัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ 4) โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง 5) โรงเรียนคลองหนองใหญ่ เขตบางแค 6) โรงเรียนวัดอินทราวาส เขตตลิ่งชัน 7) โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์ เขตบางขุนเทียน และ 8) โรงเรียนวัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สรุป ทบทวน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานร่วมกัน รวมถึงได้รับทราบปัญหาอุปสรรคของแต่ละโรงเรียน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรค พัฒนางานในโรงเรียนต่อไป

จากการติดตามโครงการ คณะติดตามงานให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ดังนี้
1. ด้านสุขภาพอนามัยและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
1.1 ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของทั้ง 8 โรงเรียน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเอื้อต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาของเด็ก บริเวณโรงเรียน และในห้องเรียน มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย
1.2 ด้านสุขภาพอนามัยของนักเรียนพบว่าบางโรงเรียน มีเด็กนักเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน มีภาวะเตี้ยและผอมค่อนข้างมาก ผู้แทนสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร แนะนำให้โรงเรียนจัดกิจกรรมออกกำลังกาย ควบคุมปริมาณอาหาร และหลีกเลี่ยงการจัดอาหารประเภทที่ทำให้เด็กอ้วน ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ แก่นักเรียน และผู้ปกครอง ส่วนเด็กที่มีภาวะผอมและน้ำหนักน้อยแนะนำให้โรงเรียนเพิ่มปริมาณอาหาร และเสริมนมให้นักเรียน รวมทั้งติดตามผลอย่างใกล้ชิด ถ้าหากไม่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นให้ส่งตัวเด็กไปตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป
1.3 ที่วัดส่วนสูง บางโรงเรียนยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตร แนะนำให้เปลี่ยนที่วัดส่วนสูง ให้มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตร
1.4 ห้องพยาบาล บางโรงเรียนพบว่ามีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับเป็นห้องพยาบาล เช่น อยู่ติดห้องประกอบอาหาร การระบายอากาศไม่ดี และบางโรงเรียนห้องพยาบาลตั้งอยู่ชั้นบนของอาคารไม่สะดวกต่อการใช้งาน แนะนำให้โรงเรียนจัดหาที่ตั้งห้องพยาบาลใหม่ และตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน และทันท่วงที การจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยพบว่าบางโรงเรียนดำเนินการจ่ายยาโดยนักเรียนเอง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้แนะนำให้ครูเป็นผู้จ่ายยาเอง และลงบันทึกชนิดยาที่จ่าย และจำนวนที่จ่ายไปด้วย เพื่อให้ทราบสถานการณ์การใช้ยา และจัดซื้อยาได้อย่างเหมาะสม
1.5 ห้องสุขา มีความสะอาด แต่ส่วนใหญ่ไม่มีสบู่ หรือเจลล้างมือ แนะนำให้โรงเรียนจัดหาไว้ประจำห้องสุขาอย่างเพียงพอ

2. ด้านคุณภาพการศึกษา
พบว่าโรงเรียนมีการจัดห้องเรียนและจัดสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างดี สำหรับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2565 พบว่าโรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา โรงเรียนวัดบึงทองหลาง และโรงเรียนวิชูทิศ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศทุกกลุ่มสาระ ได้แก่ กลุ่มสาระภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนโรงเรียนที่ได้คะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าระดับประเทศในบางกลุ่มสาระวิชา ทางสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับโรงเรียนในการวางแผนพัฒนาการจัดเรียนการสอนให้มีศักยภาพต่อไป

3. กิจกรรมห้องสมุด มีการจัดหนังสือเป็นหมวดหมู่ และจัดวางเรียงในชั้นอย่างเป็นระเบียบ แต่การสืบค้นหาหนังสือหลายโรงเรียนทำการสืบค้นหาได้ยาก ทำให้นักเรียนสนใจเข้ามาใช้ห้องสมุดน้อย แนะนำให้โรงเรียนจัดทำระบบสืบค้นหนังสือให้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้นักเรียน ได้ทำกิจกรรมในห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น

4. กิจกรรมสหกรณ์

ส่วนใหญ่มีการจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียนมากกว่าสินค้าประเภทอาหาร โดยผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แนะนำให้มีการจดบันทึกบัญชีต่างๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และให้เป็นปัจจุบัน และได้แนะนำให้นักเรียนหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นคณะกรรมการสหกรณ์กันมากขึ้น

5. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
5.1 แปลงเกษตร ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เพาะปลูกพืชให้มีความหลากหลาย ปลูกพืชผักในภาชนะเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นคอนกรีต และให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้การปลูกพืชแบบครบวงจร ขอให้เพิ่มการจดบันทึกบัญชีฟาร์ม และให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเกษตร เพื่อการเรียนรู้โดยวิธีการได้ปฏิบัติจริงให้มากขึ้น
5.2 กิจกรรมประมง พบว่าส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ และเลี้ยงในกระชัง โรงเรียนวิชูทิศมีกิจกรรมเลี้ยงปลาสวยงาม และยังพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำในบ่อเสียบ่อย กระชังที่ใช้เลี้ยงยังไม่เหมาะสมในการเลี้ยง ทำให้การจัดการลำบาก โดยผู้แทนกรมประมงได้แนะนำให้ใช้กังหันน้ำ ให้จับปลาในบ่อออกลดการแออัดของปลา และทำบ่อกรองน้ำเพื่อใช้หมุนเวียนมาเลี้ยงปลา พร้อมทั้งแนะนำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการชั่งน้ำหนัก วัดขนาด การคำนวณอาหารปลา และการคิดต้นทุน เป็นต้น อีกทั้งได้แนะนำการแปรรูปปลาให้มีความหลากหลายมากขึ้น
5.3 กิจกรรมปศุสัตว์ พบว่าส่วนใหญ่มีกิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ ได้ผลผลิตดี แต่ยังพบปัญหากลิ่นเหม็นจากมูลไก่ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ได้แนะนำให้เปลี่ยนวัสดุรองพื้นใหม่ทั้งหมด ส่วนโรงเรียนที่พบปัญหาไก่เริ่มไข่น้อยลง เนื่องจากไก่เริ่มหมดอายุไข่แล้ว แนะนำให้เปลี่ยนแม่ไก่ไข่ใหม่ทั้งหมด

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนวัดเกาะสุวรรณาราม เขตสายไหม

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนบำรุงรวิวรรณวิทยา เขตดอนเมือง

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนวัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง

วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนคลองหนองใหญ่ เขตบางแค

วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนวัดอินทราวาส เขตตลิ่งชัน

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์ เขตบางขุนเทียน

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนวัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม