“… ข้าพเจ้าปลื้มใจที่งานในโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนดำเนินไปด้วยดี และเกิดผลน่าพึงพอใจโครงการช่วยให้ราษฎรในพื้นที่ห่างไกลช่วยตนเองและพึ่งพาตนเองได้ …”

พระราชดำรัสพระราชทาน
เมื่อวันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ความเป็นมา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักว่า การที่ประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ ประชาชนเหล่านี้จะต้องทันต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมคนให้พร้อมที่จะรับสถานการณ์ ให้รู้จักปรับตัวในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ขึ้นในปี 2556 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตของตน และครอบครัวในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างดีและมีความปกติสุข โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถพึ่งตนเอง มีอาชีพมีรายได้ ทำให้สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ดีขึ้น  มีกำลังสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แนวทางการพัฒนา

   การเพิ่มศักยภาพการพึ่งตนเองในระดับครัวเรือน


1. ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร

    • ส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ ประมง ไม้ผล และอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยใช้การเกษตรแบบผสมผสาน ปลอดภัยจากสารพิษ
    • ส่งเสริมการแปรรูป และถนอมอาหารไว้บริโภค
    • พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

2. ด้านแหล่งที่อยู่อาศัย

    • พัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคง สะอาด และปลอดภัย ตามอัตภาพ
    • พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย

3. ด้านสถานะทางการเงินของครัวเรือน

    • ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน
    • ลดภาวะหนี้สิน
    • ส่งเสริมการออม

4. ด้านการศึกษา

    • ส่งเสริมให้สมาชิกในครัวเรือนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ
    • ส่งเสริมให้บุตรมีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

5. ด้านครอบครัวเป็นสุข

    • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมของสมาชิกในครอบครัว
    • ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวประพฤติตนอยู่ศีลธรรม ไม่เล่นการพนัน ดื่มสุรา หรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
    • ส่งเสริมสุขภาวะของครอบครัว

   การเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็งในระดับชุมชน


1. ด้านการบริหารจัดการและกระบวนการกลุ่ม

    • พัฒนากลุ่มมีโครงสร้างการบริหารงานกลุ่ม ในรูปแบบคณะกรรมการ
    • ส่งเสริมให้กลุ่มมีกฎระเบียบข้อบังคับ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของสมาชิก ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามเป้าหมายของกลุ่ม
    • ส่งเสริมให้กลุ่มมีการวางแผนการดำเนินงานของกลุ่มร่วมกัน
    • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการบริหารจัดการกลุ่ม รวมทั้งได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสม เป็นธรรม

2. ด้านการผลิตของกลุ่ม

    • ส่งเสริมให้กลุ่มทำกิจกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมลดรายจ่าย เช่น การปลูกพืชผักในลักษณะ แปลงรวม การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทำน้ำยาล้างจาน ฯลฯ และกิจกรรมสร้างรายได้ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร  ศิลปหัตถกรรม ศิลปะประดิษฐ์ ฯลฯ
    • ส่งเสริมให้กลุ่มมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
    • ส่งเสริมให้มีการใช้ภูมิปัญญา หรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน

3. ด้านการเงินและบัญชี

    • ส่งเสริมให้กลุ่มมีการระดมทุนจากสมาชิก เพื่อเป็นทุนสำหรับกิจกรรมของกลุ่ม
    • ส่งเสริมให้มีการออมทรัพย์
    • ส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีการเงิน ที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

4. ด้านการตลาด

    • ส่งเสริมให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตในชุมชน หรือพื้นที่อื่นๆตามความเหมาะสม
    • สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นในการแปรรูป เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน
    • ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทางการตลาดให้แก่สมาชิก

5. ด้านการช่วยเหลือสังคม

    • ส่งเสริมให้กลุ่มจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่สมาชิกและชุมชน
    • ส่งเสริมให้กลุ่มช่วยเหลือสมาชิกที่อ่อนแอ

   แผนพัฒนากลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2561-2564


พื้นที่ดำเนินการ

   กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด 102 กลุ่ม

   กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด 12 กลุ่ม

การพระราชทานความช่วยเหลือ

   พระราชทานเงินเพื่อเป็นกองทุนสำรองจ่ายและแหล่งเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มของสมาชิก


ให้สมาชิกพึ่งพาตนเอง มีความเข้มแข็งทั้งในระดับครัวเรือน และระดับชุมชน สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้สมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 114 กลุ่ม ๆ ละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,280,000 บาท

   พระราชทานเครื่องสีข้าว


ให้สมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนจำนวน 21 เครื่อง ได้แก่

  • เครื่องสีข้าว อัตรากำลัง 200 กิโลกรัม/ชั่วโมง ให้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 5 กลุ่ม ๆ ละ 1 เครื่อง
  • เครื่องสีข้าว อัตรากำลัง 80-100 กิโลกรัม/ชั่วโมง ให้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 16 กลุ่ม ๆ ละ 1 เครื่อง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมการเกษตร

กรมการปกครอง

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช